- Details
-
Category: About_school
-
Published: Thursday, 12 May 2016 11:27
-
Written by Super User
-
Hits: 57620
ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย
โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายขนาดใหญ่พิเศษ มีพื้นที่ ๑๐๙ ไร่ เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ และ มัธยมศึกษาปีที่ ๖ เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกและแห่งเดียวของกรมสามัญศึกษา(สมัยนั้น)ในภูมิภาค มีห้องเรียนทั้ง ๓ ระดับชั้นฯ รวม ๗๘ ห้องเรียน นักเรียนประมาณ ๓,๔๐๐ กว่าคน ครูอาจารย์ ๒๐๒ คน มีอาคารเรียนรวม ๖ หลัง
ตราประจำโรงเรียน คือ มงกุฎครอบจักร มีธรรมจักรอยู่กลาง เครื่องหมายนี้จอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีบัญชาให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบเนื่องจากผู้อุปการะโรงเรียนเป็นทหารและโรงเรียนมีความใกล้ชิดกับทหารมาโดยตลอด จึงมีเครื่องหมายคล้ายคลึงกับทหารบกและให้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจึงมีรูปธรรมจักรอยู่กลางอีกชั้นหนึ่ง
คติพจน์ของโรงเรียน คือ สติ โลกสฺสมิ ชาคโร หมายถึง สติเป็นเครื่องปลุกให้ทันโลก
คำขวัญของโรงเรียน คือ มานะ วินัย ซื่อสัตย์ สามัคคี
สีและธงประจำโรงเรียน คือ เขียว-แดง ซึ่งเป็นสีประจำวันเกิดของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
อักษรย่อของโรงเรียน คือ พ.บ.
อัตลักษณ์ของโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย “ เก่ง ดี มีคุณธรรม ”
นิยาม "เก่ง" หมายถึง นักเรียนมีความเป็นผู้นำด้านวิชาการ พร้อมที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
นิยาม "ดี" หมายถึง นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่นในการทำงานและมีจิตสาธารณะ
- Details
-
Category: About_school
-
Published: Tuesday, 10 May 2016 11:54
-
Written by Super User
-
Hits: 42232
ประวัติความเป็นมา
วัดพระยาออก ตั้งอยู่ในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันสำรวจยังคงพบ พระประธานองค์ใหญ่ปูนปั้น ๑ องค์ ฐานพระอุโบสถทำด้วยศิลาแลง ๑ ฐาน และผนังก่ออิฐถือปูน ๑ ด้าน วัดพระยาออกเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานเมื่อแรกสร้างที่ชัดเจนนัก โดยจากการพบประธานปูนปั้นขนาดใหญ่ ศิลปะอยุธยา ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดพระยาออก ศาสนสถานแห่งนี้จึงได้รับการสันนิษฐานว่า อาจสร้างขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งในสมัยอยุธยา หรือเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ที่ผ่านมา
วัดพระยาออก เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ไม่ไกลจากแนวคูเมืองและกำแพงเมืองชั้นที่ ๑ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สำหรับประวัติการก่อสร้างศาสนาสถานหลังนี้นั้นยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน แต่จากหลักฐานที่กรมศิลปากรได้พบจากการสำรวจเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๓ อันได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะแบบอยุธยา พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อขาว โดยด้านหลังของหลวงพ่อขาวมีผนังก่ออิฐถือปูนติดอยู่ ทั้งหมดตั้งประดิษฐานบนฐานศิลาแลง และยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสมัยลพบุรีสภาพชำรุดไม่สมบูรณ์ จำนวน ๑๑ ชิ้น ดังนั้นจากรูปแบบทางศิลปะของพระพุทธรูปปูนปั้นหลังติดผนังโบสถ์ที่พบซึ่งเป็นหลักฐานขนาดใหญ่จึงไม่น่าจะถูกเคลื่อนย้ายได้โดยง่าย ต่างจากชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็กที่พบกระจัดกระจายอยู่บนผืนดินทั่วบริเวณโบราณสถาน ดังนั้นจึงน่าจะสามารถกำหนดค่าอายุของวัดพระยาออกได้ว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยานั่นเอง
อย่างไรก็ดีทางโรงเรียนได้จัดทำวิหารโถงจตุรมุขคลุมทับเหนือพระประธาน ผนังปูนและฐานศิลาแลงตั้งแต่ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๙
วิหารหลวงพ่อขาว วัดพระยาออก เป็นสถานที่สำคัญภายในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชา ยึดเหนี่ยวจิตใจของคณะครู นักเรียนและประชาชนชาวจังหวัดลพบุรี ใช้จัดกิจกรรมวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา, จัดกิจกรรมวัดในโรงเรียน ให้คณะครู นักเรียนได้ร่วมกันทำบุญตักบาตร ฯลฯ
(ขอขอบคุณข้อมูลประวัติวัดพระยาออก จากเว็บไซต์ http://www.infothailand.eu/lopburi/ จัดทำโดยคุณอารีรัตน์ รัศมี)
วิหารพระสังฆภารวาหมุนี(เนียม ภุมมสโร)
วิหารพระสังฆภารวาหมุนี(เนียม ภุมมสโร) มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เป็นที่ตั้งรูปหล่อเหมือนพระสังฆภารวาหมุนี หรือหลวงปู่เนียม ภุมมสโร หรือท่านพระครูลวลพบุรีคณาจารย์ (เนียม ภุมมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ซึ่งต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเป็น พระสังฆภารวาหมุนี ดำรงตำแหน่งผู้กำกับคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี เป็นองค์ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 วิหารพระสังฆภารวาหมุนี(เนียม ภุมมสโร) เป็นสถาานที่ๆชาวพิบูลวิทยาลัยเคารพสักการะกราบไหว้บูชาขอพรและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพิบูลวิทยาลัย
พระบรมราชานุสาวรีย์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕
พระบรมราชานุสาวรีย์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ ดำเนินการสร้างนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในจังหวัดลพบุรีสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่หน้าหอประชุมภุมมสโร ภายในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ต่อมาเมื่อ ๒๕๓๑ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมปรับปุรงฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ให้มีความมั่นคงสวยงาม เดิมสถานที่นี้ใช้ในการประกอบพิธีวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคมของทุกปี (ปัจจุบันการประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายเครื่องราชสักการะฯ พระบรมราชานุสาวรีย์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ จัดที่ศาลากลางจังหวัดลพบุรี) พระบรมราชานุสาวรีย์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ ภายในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพิบูลวิทยาลัยเคารพสักการะบูชาตลอดเรื่อยมานับตั้งแต่มีการจัดสร้างขึ้น และในวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคมของทุกๆปี ชาวพิบูลวิทยาลัยจะจัดพิธีวางมาลาถวายเครื่องราชสักการะฯ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯของพระองค์ท่านฯ ที่มีต่อปวงชนชาวไทย